รู้ - รู้สึก

Last updated: 21 ก.ค. 2564  |  5948 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รู้ - รู้สึก

หลังจากที่หลวงพ่ออธิบายเรื่องสมาธิ 4 แบบ มีน้องคนหน่ึงถามขึ้นมาว่า เขาปฏิบัติอยู่ตลอด โดยการบริกรรมภาวนา เช่น มีอาการปวดเกิดขึ้นที่ขา ก็เห็นว่ามีความปวดเกิดขึ้นแล้วก็บริกรรมในความปวดนั้น หลังจากนั้นก็เห็นว่าความปวดหายไป 

พระอาจารย์บอกว่าแบบนี้เป็นสมาธิแบบที่ 3 คือมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ..แต่ก็รู้ว่า ตัวเองรู้ว่ามีความปวดขึ้นมา คงอยู่ซักพักหนึ่งแล้วก็หายไป  .. อย่างนี้ต่างอะไรกับการดูจิต?

ก็ตอบไปว่า แต่ก่อนตัวเราเองก็ปฏิบัติมาหลายรูปแบบ เลยไม่เคยคิดต่อต้านการปฏิบัติไม่ว่าจะแบบไหน ...

ลองปฏิบัติเพื่อเรียนรู้  ซึ่งสิ่งที่เราเจอ ไม่ว่าจะเป็นการบริกรรมภาวนาแบบไหน หรือใช้คำไหนในการภาวนานั้น  มักจะจบลงที่การท่องคำบริกรรมโดยไม่ได้สัมพันธ์กับลมหายใจ และไม่ได้สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือเพียงแค่ท่องไป โดยไม่ได้รู้สึกตัวว่ากำลังหายใจหรือไม่ 

แต่สิ่งที่สังเกตได้คือ เมื่อมีอาการแบบนั้นจะรู้สึกว่าไม่ได้หายใจอยู่ และตรงบริเวณกลางทรวงอกบริเวณลิ้นปี่ มักจะเต้นขึ้นมาแรงมาก จนเข้าใจว่าเป็นความกลัว 

เมื่อคิดแบบนั้นเลยเลิกปฏิบัติไป เพราะความกลัวว่าจะหลุดไปอย่างที่คนพูดกัน

แต่พอมาฝึกจิตและนึกถึงคำหลวงพ่อว่า คำบริกรรมภาวนาจะไปบดบังสภาวะของจิต

ซึ่งพอมาคิดดู โดยปกติแล้วถ้าคนที่ทำสมาธิเดินตัวเข้าสู่ฌาน จนถึงระดับหนึ่ง จะทิ้งคำบริกรรมภาวนาและทิ้งลมหายใจ ซึ่งเป็นสภาวะที่นิ่งมาก จนบางคนอาจเห็นอาการเกิดดับของจิตได้ โดยที่ไม่รู้จักว่าคืออะไร..

และพอนึกถึงสิ่งที่เราเจอ จึงรู้ว่าในขณะที่แต่ก่อนเราท่องคำภาวนานั้น พอนิ่งมากเราก็ทิ้งลมหายใจไป แล้วจิตมันแสดงอาการขึ้นมาให้เราเห็นเอง เพียงแต่เราไปนึกว่ามันคือความกลัวเลยไม่ได้กลับมารู้สึก

อย่างนี้แสดงว่าที่หลวงพ่อไม่ให้บริกรรมนั้น เราจะได้เข้าถึงสภาวะของการเกิด-ดับที่จิตชัดเจนยิ่งขึ้น  โดยไม่ไปติดอยู่แค่คำภาวนา

ส่วนที่น้องถามว่า.. แล้วต่างกันอย่างไร ?

จริงอยู่ว่าสมาธิแบบที่ 3 และ 4 ใกล้เคียงกันมาก

แต่ที่เขาทำอยู่คือเห็นอาการปวดเกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งเห็นความคิดเกิดขึ้น ตามเข้าไปรู้ในอาการปวดนั้น หรือถลำตัวเข้าไปอยู่ในความคิดนั้น ดูอยู่ซักพัก ก็เหมือนคนที่เอาตัวเข้าไปแช่อยู่ในอารมณ์นั้น นั่นก็คืออารมณ์สมถะนั่นเอง

แล้วพอเบื่อหน่าย หรือตามดูจนคลายจากอาการปวด ถึงจะปล่อยจากอารมณ์นั้นได้ แต่ก็เข้าไปอยู่ในอารมณ์อื่นอีก เช่นกลับมาตามลมหายใจต่อ มันก็เลยมีเกิดขึ้น พอเอาจิตเข้าไปผูกพันกับสิ่งนั้นมันเลยตั้งอยู่ และเมื่อจิตมันถอนตัวออกมาได้ จึงดับไปในที่สุด แต่เนื่องจากยังไม่เห็นสภาวะของจิตตามความเป็นจริง จึงยังไม่รู้สึกตัว .. นั่นคือยังไม่มีที่เกาะนั่นเอง  

แต่ที่หลวงพ่อสอนนั้น.. สมาธิแบบที่ 4 เมื่อมีอารมณ์เกิดขึ้น เมื่อเรากลับมาสังเกตอาการของจิต นั่นเปรียนเสมือนการทำความรู้สึกตัวอยู่ทุกขณะ จึงเห็นจากภายในว่า แม้ความคิด อารมณ์ ความเจ็บปวด เป็นเพียงกระแสผ่านมาผ่านไป จิตของเราไม่เข้าไปสัมผัส ไม่เข้าไปผูกพัน ไม่ตามเข้าไปอยู่ในอารมณ์นั้น สุดท้ายมันก็ดับไปเอง มันจึงเป็นการเกิด-ดับ

เหมือนจิตอยู่ในบ้านที่ปลอดภัย ..ความคิด อารมณ์ ความทุกข์ต่างๆ เปรียบเสมือนเพื่อนๆที่มาเรียกให้ออกไปเที่ยว.. ถ้าเราเชื่อเพื่อน ออกไปเที่ยว ก็เหมือนกับเราถลำตัวเข้าไปอยู่ในอารมณ์นั้น เพลิดเพลินอยู่ในอารมณ์ต่างๆ พอเบื่อก็นึกขึ้นได้ว่าต้องกลับบ้าน ก็เลยต้องแยกจากเพื่อน นี่ก็คือสมาธิแบบที่ 3 

แต่ถ้าเราอยู่ในบ้านที่ปลอดภัย ถึงเพื่อนจะมาเรียก เราก็แค่มองเห็นว่ามีเพื่อนเดินผ่านมาหน้าบ้าน แต่เราไม่ได้ออกไปเที่ยวด้วย เพราะเรารู้สึกตัวว่าอยู่บ้านแล้วปลอดภัย  สุดท้ายเพื่อนก็ต้องเดินจากไป ก็เหมือนอารมณ์ความทุกข์ กระแสต่างๆที่ผ่านมาผ่านไป นี่คือสมาธิแบบที่ 4

เพราะฉะนั้นสมาธิแบบที่ 3 ก็เหมือนคนที่แสดงละครให้เราดู ..อินในบทละคร จนเข้าใจว่าตัวเองเป็นตัวละครนั้นจริงๆ แล้วพอจบเรื่องก็ถึงจะถอนตััวออกจากบทและกลับมาเป็นตัวเองได้

แต่สมาธิแบบที่ 4 ก็เหมือนคนดูละคร ไม่ได้อินกับบท แค่รู้เรื่องราวของละครเรื่องนั้น ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบเรื่องก็ยังเป็นตัวของตัวเองโดยไม่ต้องแสดง.. สรุปสุดท้ายน้องบอกว่าเข้าใจว่าไม่จำเป็นต้องตามรู้ แค่รู้สึก เห็นมันแล้ววางมันลงได้ 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้